

ประวัติความเป็นมาวัด พระธาตุ
watchomtong
ดอยจอมทอง มีสัณฐานเป็นภูเขาดินสูง จากระดับพื้นที่ราบอื่น ดอยลูกนี้ตั้งอยู่ห่างจากเมืองกุสินารา เมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทางทิศตะวันออก ประมาณ ๒๗๐ โยชน์ (เท่ากับ ๔๓๒๐ กิโลเมตร) ดอยจอมทองยังตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แห่งเมืองอังครัฏฐะ ห่างกันประมาณ ๕๐๐ วา มีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อว่าระมิงค์คะนที (แม่น้ำปิง) ไหลมาจากทางทิศเหนือผ่านเชิงดอย ประมาณ ๗๕ วาไหลลงไปถึงมหาสมุทรและยังมีแม่น้ำอีกสายชื่อ “สักการะนที” (แม่น้ำแม่กลาง) ไหลจากท้องดอยอังคสักการะ (ดอยอินทนนท์) อันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือแห่งเมืองอังครัฏฐะผ่านดอยจอมทองมาทางทิศตะวันตกก่อนจะไหลลงระมิงค์คะนที ที่ ตำบลสบเตี้ยะ (ตำบลสบกลาง)
ในสมัยพุทธกาล เจ้าเมืองอังครัฏฐะ มีนามว่า พระยาอังครัฏฐะ ได้ทราบข่าวจากพ่อค้าที่มาจากอินเดียว่าบัดนี้พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นบนโลกแล้วโดยพระองค์ทรงประทับอยู่ เมืองราชคฤห์ ในประเทศอินเดีย พระยาอังครัฏฐะจึงอธิฐานขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณ จึงรับสั่งให้พระมหาโมคคัลลานะพร้อมด้วยอรหันต์ทั้ง ๔ เดินทางไปยังเมืองอังครัฏฐะ เพื่อแสดงธรรมเทศนา ในครั้งพระมหาโมคคัลลานะยังได้ทรงทำนายว่าพื้นที่บริเวณเมืองแห่งนี้จักอุดมสมบูรณ์และเจริญ ร่วงเรืองด้วยพระพุทธศาสนาตลอด ๕,๐๐๐ พระวัสสา
กาลต่อมาพระยาอังครัฏฐะปรารถนาจะถวายทานแก่พระพุทธเจ้าอีก จึงได้ทำอธิษฐานอาราธนาขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาสงเคราะห์ โดยครั้งนี้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมภิกษุบริวารอีก ๕๐๐ รูปก็ทรงเสร็จมารับบิณฑบาต ณ ดอยจอมทอง ก่อนจะทรงแสดงธรรม และทรงพยากรณ์ไว้ว่า “ดูก่อนมหาราช สถานที่นี้ต่อไปข้างงหน้าจักเป็นอัครสถานอันประเสริฐ จักเป็นที่ประดิษฐานทักษิณโมลีธาตุเบื้องขาวแห่งเรา กับธาตุทั้งกระดูกด้ามมีดเบื้องขวา มีสัณฐานเป็นรูปสามเหลี่ยมเท่าเมล็ดข้าวสารหัก และธาตุย่อยอีก ๕ องค์ เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด จักมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่นี้ เมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้วได้ ๒๑๘ ปี จักมีพระราชาองค์หนึ่งพระรามว่า อโศกมหาราช จักเป็นธรรมิกราช ปราบชมพูทวีปทั้งมวลแล้ว จักเสด็จมาสู่ดอยจอมทองที่นี้จักให้สร้างอุโมงค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ไต้พื้นดอยที่นี้ สถานที่นี้จักเป็นอัครสถานอันเลิศแล” ครั้งเมื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงอำลาพระยาอังครัฏฐะเสด็จไปยังดอยอังคสักการะ (ดอยอินทนนท์) จากนั้นพระยาอังครัฏฐะก็ได้ทรงรับสั่งให้สร้างสถูปไว้บนยอดดอยจอมทอง ด้วยหวังว่าจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุตามที่ทรงพยากรณ์ไว้
หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน โทณพราหมณ์ได้แบ่งพระบรมธาตุของพระพุทธองค์ออกเป็น ๘ ส่วน ให้แก่กษัตริย์จากเมืองต่างๆ นำไปสักการบูชายังบ้านเมืองของตนเฉพาะพระบรมทักขิณโมลีธาตุที่พระพุทธองค์เคยตรัสไว้กับพระยาอังครัฏฐะ ก็ได้มีการอาราธนาพระบรมธาตุไปประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ทองคำบนดอยจอมทอง
กาลล่วงมาถึงรัชสมัยแห่งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (พระเจ้าอโศกมหาราช) กษัตริย์อินเดียพระองค์พร้อมด้วยท้าวพระยาเสนาอมาตย์ราชบริพารได้เสด็จสู่ดอยจอมททอง ก่อนจะขุดคูหาเปิดอุโมงค์ใต้พื้นดอยจอมทองขนาดใหญ่เท่าที่ตั้งพระคันธกุฎีแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระเชตวันมหาวิหาร ในสมัยพุทธกาล ก่อนจะรับสั่งให้สร้างพระสถูปองค์หนึ่งด้วยทองคำสูง ๖ ศอกไว้ภายในพร้อมกันนั้นจะได้หล่อพระพุทธรูปด้วยทองและเงินพร้อมเครื่องสักการะตั้งไว้รอบสถูปนั้น ครั้นได้นักขัตฤกษ์ชัยมงคล จึงทำการสมโภชบูชาอัญเชิญพระทักษิณโมลีธาตุเสด็จเข้าสู่สุวรรณโกศแก้ววชิระนั้น พร้อมทั้งพระธาตุกระดูกด้ามมีดเบื้องขวา (พระอัฏฐิต้นพระหนุ) และพระบรมธาตุย่อยอีก ๕ องค์ รวมทั้งหมด ๗ องค์ ให้เข้าอยู่ในโกศแก้ววชิระนั้น พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้กล่าวคำอธิฐานไว้ว่า “ข้าแด่พระบรมธาตุเจ้าเมื่อใดพระราชามหาอำมาตย์ผู้เสวยราชย์บ้านเมืองที่นี้มีบุญวาสนาเสมอดังข้าพระพุทธเจ้า ก็ขอนิมนต์พระบรมธาตุเข้า จงเสด็จออกมาจากพระสถูปทองคำ แสดงอภินิหารให้ปรากฏแก่คนและเทพยดาทั้งหลาย เพื่อให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองต่อไปตลอด ๕๐๐๐ พระวัสสาถ้าหากพระราชาและอำมาตย์ผู้เสวยราชย์บ้านเมืองที่นี้ปราศจากการเคารพนับถือพระรัตนตรัย ประกอบแต่บาปอกุศลกรรมมีประการต่างๆ ไซร้ ขอพระบรมธาตุเจ้าจงเสด็จประทับอยู่แต่ในสถูปมองคำแห่งนี้ ขอจงอย่าได้เสด็จออกมาปรากฏแก้ผู้ใดเลย” เมื่อกล่าวจบก็รับสั่งให้นำหินมาปิดปากถ้ำคูหาไว้ พร้อมทั้งสั่งให้ขุดหลุมฝังทองคำไว้ในทิศทั้ง ๘ แห่งดอยจอมทอง และทรงอธิษฐานต่อไปว่า “เมื่อใดพระบรมธาตุเจ้าเจริญรุ่งเรืองไปภายหน้า ขอจงให้ผู้อยู่ปฏิบัติรักษาพระบรมธาตุนี้ จงขุดเอาทองคำที่ฝังไว้นี้ออกบำรุงก่อสร้าง สถาปนาพระพุทธศาสนาให้เจริญถาวรต่อไปชั่วกาลนานเทอญ”
วัดพระธาตุศรีจอมทอง เริ่มมีประวัติการก่อสร้างเมื่อปี จุลศักราชที่ ๘๑๓ (ปี พ.ศ. ๑๙๙๔) โดยสามีภรรยาคือ นายสร้อยและนางเม็ง ทั้งครู่มีบ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ดอยศรีจอมทอง และเป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา พวกเขาลงมือแผ้วถางพื้นที่บริเวณยอดดอยจอมทอง และปลูกสร้างศาลาและก่อเจดีย์ไว้ พร้อมทั้งสร้างพระพุทธรูปไว้ ๒ องค์
ในปีจุลศักราช ๘๒๘ (พ.ศ. ๒๐๐๙) ปีระกา มีชาย ๒คน ชื่อ สิบเงินและสิบถัว ทั้งสองสหายได้ร่วมกันสร้างวิหารขึ้นหลังหนึ่งที่วัดศรีจอมทองนั้น โดยหลังคาของวิหารมุงด้วยหญ้าคาไว้ และอาราธนาพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ สารีปุตตเถระมาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นปีของการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของวัดพระธาตุศรีจอมทอง อย่างเป็นทางการ กระนั้นพระภิกษุรูปนี้มาอยู่ดูแลรักษาวัดได้ ๕ พรรษาก็มรณภาพไป
ต่อมาถึงปีจุลศักราช ๘๓๒ (พ.ศ. ๒๐๑๓) ปีฉลู มีการอาราธนาพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ พระเทพกุลเถระมาเป็นเจ้าอาวาสภิกษุรูปนี้ก็ได้จัดการบูรณปฏิสังขรณ์ วิหาร และถัดมาถึงจุลศักราช ๘๓๗ ก็มีการอาราธนาพระธัมมปัญโญเถระ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัด ในขณะพระธัมมปัญโญเถระ เป็นเจ้าอาวาสยังมีนักบุญนุ่งขาวห่มขาวผู้หนึ่ง ตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือวัดเป็นศรัทธาผู้อุปัฏฐากวัดมาโดยตลอด อยู่มาในคืนวันหนึ่งเทวดาได้มาบอกแก่นักบุญผู้นั้นโดยทางนิมิตฝันว่ามีพระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำคูหา โดยเทวดาขอให้นักบุญท่านนั้นอยู่เป็นอุปัฏฐากรักษาสถานที่นี้ต่อไป พอรุ่งเช้านักบุญจึงนำความมาบอกเจ้าอาวาส
เมื่อพระธัมมปัญโญเถระทราบดังนี้ ก็มีความปลาบปลื้มปีติยิ่ง จึงอธิษฐานขอให้พระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกมาให้ท่านได้เห็นขณะที่ท่านยังมีชีวิต เพื่อจะได้สักการบูชาพระบรมธาตุสักครั้ง จนปีจุลศักราช ๘๖๑ (พ.ศ. ๒๐๔๒) เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ (เดือน ๖ เหนือ) เวลากลางคืน พระทักขิณโมลีธาตุก็เสด็จออกจากพระสถูปทองคำอันตั้งอยู่ในคูหาทองคำใต้พื้นดอยศรีจอมทองในคืนนั้นก็เกิดมีปาฏิหาริย์นานาปรากฏขึ้นแก่คนทั้งหลายและในพระวิหารวัดศรีจอมทอง มีพระพะรูปองค์ใหญ่ (หมายถึง หลวงพ่อเพชร) ประดิษฐานอยู่ในปราสาทเฟื้องภายในพระวิหารนั้น พระพุทธรูปองค์นี้มีพระโมลีถอดออกได้ พระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกจากพระสถูปทองคำ มาประดิษฐานอยู่ในพระโมลีของพระพุทธรูปองค์นั้น โดยอยู่ในห่อผ้าทิพย์อันละเอียดอ่อน
ครั้นรุ่งเช้าเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ นักบุญทั้งหลายได้นำข้าวน้ำมาบูชาพระพุทธรูปเห็นประตูปราสาทเปิดอยู่จึงไปบอกแก่ท่านเจ้าอาวาส เมื่อพระธัมมปัญโญเถระไปตรวจดูก็เห็นพระโมลีวางอยู่ข้างล่างที่ตักของพระพุทธรูปนั้นจึงขึ้นไปดูที่ด้านบนของพระเศียรพระพุทธรูป ก็เห็นห่อผ้าเล็กๆ อยู่ ณ ที่นั้น ภายในปรากฏพระบรมธาตุเจ้าองค์หนึ่ง ก่อให้เกิดความปีติยิ่งเจ้าอาวาสได้กระทำการสักการบูชาด้วยข้าวตอกดอกไม่เครื่องหอมทั้งหลาย แล้วอัญเชิญพระบรมธาตุเจ้าประดิษฐานในโกศงาอันหนึ่งเก็บไว้ภายในช่องว่างของพระโมลีพระพุทธรูปตามเดิม
เมื่อครั้งที่พระบรมธาตุปรากฏให้ผู้คนทั่วไปได้เห็นอีกครั้งนั้นเป็นยุคสมัยที่จอมทองเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา โดยมีพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ (พระเมืองแก้ว) เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๐๖๐ ซึ่งเป็นยุคที่พระมหาสีลปัญโญเถระ ดำรงตำแห่งเจ้าอาวาส พระเมืองแก้วได้ทรงรับสั่งให้มีการปฏิสังขรณ์ปลูกสร้างพระวิหาร ๔ มุขหลังหนึ่ง ยึดตามแบบของวิหารวัดศรีภูมิในตัวเมืองเชียงใหม่แล้วสั่งให้ก่อปราสาทหลังหนึ่งในเหมือนปราสาทอันมีอยู่ในพระอุโบสถวัดมหาโพธิหลวง (วัดเจ็ดยอด) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจ้า
พลันการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระเมืองแก้วจึง รับสั่งให้ช่างทองสร้างโกศทองคำเพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ จัดพิธีเฉลิมฉลอง และอัญเชิญพระบรมธาตุเจ้าเข้าไว้ในโกศทองคำ ประดิษฐานไว้ในมณฑปปราสาททรงปลงพระราชทานวัตถุไทยทานและเครื่องแห่ไว้กับพระบรมธาตุเจ้าเป็นอันมาก ทั้งยังถวายข้าคนไร่นาคามเขต ป่า ที่ดิน ย่านน้ำ ไว้สำหรับให้ปฏิบัติ รักษาทำนุบำรุงพระบรมธาตุ
ปี พ.ศ. ๒๑๐๐ ซึ่งเป็นปีที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง มีพระมหาสังฆราชาญาณมังคละเป็นเจ้าอาวาส ได้มีการนิมนต์พระบรมธาตุเจ้าเข้าไปให้ศาสนิกชน ได้กราบไหว้ภายในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นการแห่พระธาตุเข้าเวียงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ตามดำริของพระนางมหาเทวี เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พร้อมทั้งทีการถวายไทยทาน ดังเช่นที่พระเมืองแก้วทรงเคยถวายไว้ และได้ทำการยกเว้นการเก็บส่วยและเกณฑ์ไปทำการบ้านเมืองแก่ข้าพระธาตุเจ้าจอมทองเพื่อให้ข้าธาตุ เหล่านี้อยู่เป็นอุปัฏฐากพระบรมธาตุเจ้าทุกวันทุกคืนเป็นนิตย์
เมื่อครั้งอาณาจักรตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเกือบ ๒๐๐ ปี ในปีขาลของพุทธศักราช ๒๓๑๔ ได้มีบันทึกการอันตรธานหายไปของพระบรมธาตุเจ้าอันไม่ทราบสาเหตุกระทั่งเชียงใหม่สามารถปลดแอกจากพม่าและขึ้นกับสยาม พระยาวิเชียรปราการ ขึ้นเป็นเข้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้ทรงคำนึงถึงพระบรมธาตุเจ้าอันได้สูญหายไปจึงได้ให้นายช่างทองสร้างโกศเงินและโกศทองคำเพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุเจ้ารับสั่งอำมาตย์ทั้งหลายทำพิธีอาราธนาแล้วอัญเชิญพระบรมธาตุเจ้า ครั้งแรกพระบรมธาตุก็บังไม่เสด็จมาจึงได้อาราธนาอีก ๒ ครั้ง จนถึงแรม ค่ำเวลาก๋องงาย (๐๙.๐๐ น.) พระบรมธาตุเจ้าก็เสด็จออกมาปรากฏในตูหาปราสาทตามตำอธิษฐาน ยังความโสมนัสแก่ พระยาวิเชียรปราการเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และได้อัญเชิญพระบรมธาตุเจ้าเข้าไปในเมืองเชียงใหม่ ทำการสระสรงและถวายทานนาน ๗ วัน ๗ คืน แล้วจึงได้อัญเชิญพระบรมธาตุเจ้ากลับคืนไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองตามเดิม
มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุศรีจอมทองอยู่หลายยุคสมัยตั้งแต่นั้น ทั้งในยุคพระเจ้าช้างเผือกที่มีขบวนเสด็จไปปิดทองเสาพระวิหารและก่อกำแพงวัดในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ต่อมาเจ้าสุภัทระคำฝั้นได้ถวายทองคำและเงินสร้างโกศสำหรับบรรจุพระบรมธาตุเจ้าจอมทองก่อนจะอัญเชิญพระบรมธาตุให้เข้าไปโปรดเมตตาผู้คนในเมืองเชียงใหม่ ทั้งยังรวมไปถึงยุคของพระเจ้ากาวิละหลังฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ให้สำเร็จเจ้าอินทวิชยานนท์ที่ได้อัญเชิญพระบรมธาตุเข้าเวียงอักครั้ง
และในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ซึ่งเป็นปีที่คัมภีร์ใบลานเรื่องตำนานพระธาตุเจ้าศรีจอมทองถูกจารบันทึก เจ้าแก้วนวรัฐ พร้อมด้วยเจ้าดารารัศมี พระราชชายใน สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปฏิสังขรณ์พระวิหารของวัด และทำบุญถวายทานฉลองพระวิหารเป็นปางอันใหญ่ พร้อมทั้งสระสรงพระบรมธาตุเจ้าด้วยสุคนโธทก เป็นงานมโหฬารยิ่งในกาลนั้นแล




