top of page

ทางสายเอก สู่มรรคผลนิพานอันได้แก่หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐานทั้งสี่ ซึ่งเป็นคำสอนที่สูงสุดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นทฤษฎีธรรมชาติอันลี้ลับที่พระองค์ทรงค้นพบ เป็นอมตะธรรมที่ช่วยชี้ ขนสัตว์โลกสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง

เนื้อความจากพระธรรมเทศนา
โดย พระสุพรหมยานเถร ปี ๒๕๓๘
002.jpg

โลกเราทุกวันนี้ ยังมีความเร่าร้อนวุ่นวายสับสนยังหนีสิ่งชั่วซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิมไปไม่พ้น การดูถูกดูหมิ่น การอิจฉาริษยา การเบียดเบียนกันการทรยศหักหลังการเอารัดเอาเปรียบการคดโกงกันการทะเลาะวิวาทตลอดจนการรบราฆ่าฟันกันยังคงมีอยู่ในหมู่มนุษย์ทั่วไปความชั่วทั้งหลายเหล่านี้ธรรมชาติมิได้ก่อขึ้นเลยแต่มนุษย์นั้นเองเป็นผู้ก่อบรรดาศาสดาของลัทธิและศาสนาต่าง ๆ พยายามจะคิดค้นและวางหลักไว้สำหรับให้มนุษย์ปฏิบัติเพื่อสร้างความสันติสุขให้แก่โลกโดยให้มนุษย์ทำแต่ความดีและให้ละความชั่วสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของพระพุทธศาสนาก็ทรงกระทำเช่นนั้นเหมือนกันแต่นอกจากจะทรงสอนให้มนุษย์ทำแต่ความดีละความชั่วแล้วพระองค์ยังทรงสอนให้มนุษย์ชำระจิตให้บริสุทธิ์อีกด้วยดังปรากฏในคำสอนของพระองค์ที่เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์คือ สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํการทำจิตให้ผ่องแผ้ววิธีชำระจิตให้ผ่องแผ้วนี้ไม่มีในคำสอนของศาสดาใดๆ ในโลกมีแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้นเพราะพระองค์ทรงเห็นว่าการที่จะไม่ให้มนุษย์ทำชั่วได้อย่างแท้จริงนั้นจะต้องให้มนุษย์ชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสเสียก่อน เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้ว ก็จะไม่ทำความชั่วจะทำแต่ความดีเพราะมูลเหตุที่จะให้ทำความชั่วคือกิเลสได้หมดไปแล้วการชำระจิตให้บริสุทธิ์ตามวิธีปฏิบัติที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้เรียกว่ากรรมฐานและหลักปฏิบัติกรรมฐานที่สมบูรณ์ที่สุดที่ปรากฏในคัมภีร์มหาสติปัฐานสูตร คือ

 

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ในแนวสติปัฏฐานทั้งสี่

 

ทฤษฏีนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเป็นหนทางเดียวที่ทำให้จิตบริสุทธิ์หมดจด ทำให้พ้นจากทุกข์และบรรลุมรรคผลนิพพาน สติปัฏฐานสี่แปลตามศัพท์ว่า ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติสี่อย่าง ในทางปฏิบัติสติปัฏฐานทั้งสี่คือการให้สติพิจรณากำหนดรู้อยู่ทุกขณะถึงอาการที่ปรากฏทางกาย เวทนา จิต และธรรม หรือทางเบญจขันธ์แบ่งออกได้เป็นสี่ประเภทคือ

 

๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่การใช้สติพิจารณากำหนดรู้อาการที่ปรากฏทางกาย คือรูปขันธ์เช่นการ เดินจงกลม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ และการกำหนดลมหายใจ เข้า ออก รู้อาการพองยุบ ของท้องเช่นพองหนอ ยุบหนอ

 

๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่การใช้สติพิจารณากำหนดรู้อาการที่ปรากฏทางเวทนาหรือเวทนาขันธ์เช่น การกำหนดรู้ในเมื่อสุขเมื่อทุกข์ที่เกิดขึ้นว่ากำลังสุขหรือกำลังทุกข์อย่างไร หรือไม่สุขไม่ทุกข์หรือเฉยๆ ก็รู้ชัดแก่ใจ

 

๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่การใช้สติกำหนด พิจารณากำหนดรู้อาการที่ปรากฏทางจิตหรือวิญญาณขันธ์ เช่นกำหนดว่าจิตมีอารมณ์อย่างไร จิตมีราคะ มีโทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน สงบหรือไม่สงบก็รู้ว่าจิตเป็นอารมณ์ อย่างงั้นๆ 

 

๔ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่การใช้สติพิจารณากำหนดรู้อาการที่ปากฏทางธรรม   คือ   สัญญาขันธ์    สังขารขันธ์ สัญญาขันธ์คือความจำได้หมายรู้ สังขารขันธ์ คือความนึกคิดคือเมื่อเราคิดอะไรอยู่ก็ต้องให้กำหนดรู้ว่าคิดหนอๆ คิดอะไรอยู่ หรือเมื่อเกิดความพอใจไม่พอใจ ง่วงฟุ้งสงสัย ซึ่งเรียกว่านิวรณ์ก็ต้องกำหนดรู้ในอารมณ์นั้นๆ

 

ถ้าจะกล่าวโดยสรุปแล้ว สติปัฏฐานทั้งสี่นั้นไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการใช้สติพิจารณากำหนดรู้อยู่ทุกขณะจิตในขณะขณะหนึ่ง นั้นเรากำลังทำอะไรอยู่ หรือเรากำลังมีความรู้สึกนึกคิดอะไรอยู่เท่านี้ พิจารณากันเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้นไม่พิจารณาย้อนไปถึงอดีต อนาคต แม้สักวินาทีเดียว สติปัฏฐานนี้เป็นหัวใจแห่งคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ พระองค์ได้ทรงพร่ำสอนสติปัฏฐานแก่สาวกของพระองค์อยู่เนืองนิจนับตั้งแต่ตรัสรู้จนกระทั่งเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังได้ทรงรับรองไว้อย่างชัดแจ้งในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า

 

เอกายโน  อยํ  ภิกฺขเว  มคฺโค สตฺตานํ  วิสุทฺธิยา  โสกปริเทวานํ  สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ

อตฺถํ คมาย ยายสฺส  อธิคมาย นิพฺพานสฺส   สจฺฉิกิริยาย  ยทิทํ จตฺตาโร  สติปฏฺฐานาติ ดังนี้เป็นต้น

 

ความว่า ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลายทางคือสติปัฐานทั้งสี่ นี้ เป็นเป็นทางสายเดียวที่เป็นไป

พร้อมเพื่อความบริสุทธ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วงความเศร้าโศกเสียใจพิไรรำพัน

เพื่อดับทุกข์ดับโทมนัสส เพื่อบรรลุมรรคผลนิพานดังนี้

 

แม้นพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ในอดีตและอนาคตกาลก็ดี ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ดังพระบาลีรับรองข้อความตอนนี้ว่า

 

เยเนวะ ยันติ นิพพานัง พุทธา เตสัญจะ สาวกา เอกายเนนะ มัคเคนะ สติปัฏฐานสัญญินาฯ ความว่า

พระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวกทั้งหลายย่อมไปสู่พระนิพพาน ด้วยเส้นทางสายเดียว คือสติปัฏฐานทั้งสี่ ดังนี้

 

อันที่พระองค์ทรงตรัสว่าเป็นเอกยมรรค คือเป็นหนทางสายเอก เพราะว่า ๑ เป็นทางที่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวที่ทรงค้นพบ  ๒ เป็นทางที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนานี้แห่งเดียว ๓ เป็นทางที่ ต้องไปคนเดียวคือต้องไปตนเองจะให้ใครไปแทนไม่ได้ ๔ เป็นทางสายเดียวไม่ใช่ทางสองแพร่ง ๕ เป็นทางที่ไปสู่จุดหมายปลายทางแห่งเดียว คือพระนิพพาน

 

 

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ทางที่จะทำให้จิตบริสุทธิ์นั้นมีอยู่ทางเดียวคือทางที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงวางไว้ อันได้แก่สติปัฏฐานทั้งสี่ ถ้าเราปรารถนาจะพาตนให้พ้นทุกข์และประสบสันติสุขอย่างแท้จริงแล้วขอจงประพฤติปฏิบัติวิปัสสนาในแนวสติปัฏฐานทั้งสี่นี่เทอญชีวิตก็จะเข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ชีวิตที่ไม่มีการประพฤติปฏิบัติธรรมเหมือนกับแผ่นดินที่ว่างเปล่าเหมือนภาชนะที่ปราศจากอาหารย่อมหา ประโยนช์อันใดไม่ได้วัฏฏสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิดนี้เปรียบได้กับมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลที่มองไม่ห็นฝั่ง สรรพสัตว์ทั้งหลายต่างก็หลงแหวกว่ายวนเวียนอยู่ในห้วงมหรรณพนั้นอย่างปราศจากจุดหมาย แต่หากได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนบรรลุมรรคผลแม้เพียงชั้นต้นเป็นพระอริยะบุคคล ก็เท่ากับว่าได้ว่ายลัดตัดตรงไปสู่ฝั่งมหาสมุทรมองเห็นฝั่งรำไรอยู่เบื้องหน้าแล้ว เมื่อวายต่อไปคือได้ปฏิบัติวิปัสสนาอีกไม่ช้าไม่นานก็จะบรรลุถึงฝั่งคือพระนิพพานได้ดังนี้แล

คือ

วิปัสสนากรรมฐาน
ในแนวสติปัฏฐานสี่
bottom of page